• Email :
  • info@eartone.com

หูและการได้ยิน

หูหนวกหูตึงในเด็ก

โดย พญ. นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร

หูหนวกหูตึงที่เป็นตั้งแต่กำเนิด

ความผิดปรกติของหูแต่กำเนิดเป็นสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อย เช่น ใบหูผิดปกติ ไม่มีรูหู ไม่มีใบหูซึ่งมักจะมีแก้วหู กระดูกหู และโคเคลียผิดปกติไปด้วย ทำให้การนำเสียงและรับเสียงด้อยลง ถ้าหากผิดปกติเพียงหูข้างเดียวตั้งแต่เกิด เด็กยังสามารถพัฒนาภาษาพูดได้เหมือนคนปรกติ แต่ถ้าหากเป็นทั้ง 2 ข้าง การแก้ไขต้องทำก่อนอายุหนึ่งขวบ

ในปัจจุบันแพทย์สามารถตรวจการได้ยินของเด็กตั้งแต่แรกคลอดด้วยเครื่องมือ OAE เป็นเครื่องมือเท่าโทรศัพท์มือถือ ต่อกับสายยางเล็กๆ ปลายมีจุกยางเล็กๆ ใส่เข้ารูหู เครื่องจะปล่อยเสียงผ่านท่อนำเสียงเข้าหู ใช้เวลาตรวจเพียงหนึ่งนาที ในขณะที่เด็กหลับหรือตื่นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องให้ยานอนหลับเด็ก

Image
Image

ประสาทหูที่ดีจะสะท้อนเสียงได้ปกติ ส่วนที่เสื่อมจะไม่สะท้อนออกมา ถ้าผลตรวจไม่ยืนยัน สามารถตรวจเพิ่มเติมด้วยเครื่อง ABR หรือ EABR โดยการใส่เสียงเข้าหูเด็ก แล้วดูการตอบสนองของประสาทหูตามทางเดินของเสียงจนถึงสมองซึ่งจะแสดงออกเป็นคลื่นกราฟว่าส่วนใดผิดปรกติ แพทย์มักจะตรวจซ้ำๆ หลายๆ ครั้งจนมั่นใจ จึงจะแจ้งให้มารดา-บิดาทราบ ส่วนใหญ่เด็กที่ประสาทหูเสื่อมแต่กำเนิดมักจำเป็นต้องใส่เครื่องช่วยฟังตั้งแต่ในขวบปีแรก

หูหนวกหูตึงในเด็กที่เกิดหลังคลอด

ในเด็กที่เป็นหวัดและคออักเสบจากการติดเชื้อบ่อยๆ การอักเสบนี้อาจลุกลามไปถึงหูชั้นกลาง ผ่านทางท่อยูสเตเซียนซึ่งเชื่อมต่อหูชั้นกลางกับคอส่วนบนหรือโพรงหลังจมูก หนองที่เกิดจากการอักเสบของหูชั้นกลางอาจดันให้แก้วหูแตกออกกลายเป็นหูน้ำหนวก ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้คนไทยหูหนวก หูตึง การอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิดก็อาจทำให้ประสาทหูเสื่อมได้ เช่น โรคคางทูม หัด และหัดเยอรมัน

ข้อสังเกตว่าเด็กได้ยินหรือไม่

เด็กจะพูดได้ ต้องได้ยินเสียงก่อน แล้วพูดเลียนแบบเสียงนั้น ถ้าหากเด็กไม่ได้ยินหรือได้ยินน้อยจะทำให้เด็กพูดได้ช้าหรือไม่พูดเลย เราจะทราบว่าเด็กได้ยินหรือไม่โดยการสังเกตปฏิกิริยาโต้ตอบและการเลียนแบบคำพูดของเด็ก หลักเกณฑ์คร่าวๆ ที่เด็กควรทำได้ในช่วงอายุต่างๆ มีดังนี้

  • เด็ก 1 เดือน : ควรจะเริ่มตอบสนองด้วยเสียง เช่น เมื่อได้ยินเสียงดังเด็กจะสะดุ้ง ขยับตัว หรือร้องไห้
  • เด็ก 4 เดือน : จะหันหาแหล่งที่มาของเสียง และทำเสียงพยางค์ที่ไม่มีความหมายพยางค์เดียว
  • เด็ก 8 เดือน : จะเข้าใจคำว่า “อย่า” และรู้จักชื่อตัวเอง
  • เด็ก 9 เดือน : เข้าใจคำพูดที่ได้ยินบ่อยๆ เช่น “เอา” “ไม่เอา” พูดเป็นคำได้ เช่น พ่อ แม่ แมว หมา
  • เด็ก 18 เดือน : เข้าใจคำสั่งและคำห้ามง่ายๆ เช่น นั่งลง พูดเป็นประโยคสั้นๆ ยาวประมาณ 1.5 คำ
  • 2 – 2 ขวบครึ่ง : พูดเป็นประโยคยาวได้ 2-3 คำ เข้าใจประโยคได้ทั้งประโยค
  • 2 ขวบครึ่ง – 3 ขวบ : เข้าใจคำศัพท์ได้ประมาณ 500 คำ พูดเป็นประโยคได้ 3-4 คำ
  • 5 ขวบ : พูดประโยคยาวๆ ได้ นับเลขได้

ถ้าเด็กอายุหนึ่งขวบแล้วยังไม่เรียกพ่อแม่ หรือขวบครึ่งยังไม่พูดคำพยางค์เดียว หรือ อายุ 2 ขวบ ยังพูดคำ 2 พยางค์ไม่ได้ ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการทดสอบว่าระบบการรับเสียงปรกติหรือไม่

ข้อแนะนำ

  1. ควรวางแผนครอบครัวก่อนแต่งงาน ควรได้รับการตรวจหมู่เลือดและซิฟิลิสก่อนแต่ง ควรหลีกเลี่ยงการแต่งงานในหมู่เครือญาติหรือระหว่างผู้ที่มีใบหูและรูหูพิการ มีประวัติหูตึง หูหนวก (ตั้งแต่กำเนิดหรือเมื่ออายุยังน้อย) และเป็นใบ้
  2. ในระหว่างการตั้งครรภ์ควรฝากครรภ์กับสูติแพทย์และหลีกเลี่ยงการถ่ายภาพรังสีหรือใช้ยาที่ทำลายหูส่วนใน และควรแจ้งให้สูติแพทย์ทราบทุกครั้งที่มีการติดเชื้อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีผื่นที่ผิวหนังร่วมด้วย การติดเชี้อโรคโดยเฉพาะเชื้อไวรัส เช่น หัดเยอรมันในช่วงที่ตั้งครรภ์อ่อนๆ อาจทำให้ทารกที่คลอดมีความพิการของอวัยวะต่างๆ รวมทั้งหูด้วย
  3. พ่อแม่ที่มีลูกหูตึงหรือหูหนวกแต่กำเนิดควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะมีลูกคนต่อไป

ดาวน์โหลดแผ่นพับเกี่ยวกับเครื่องช่วยฟัง

Image
Image
Image
Image
eartone-logo-bottom.png


ศูนย์บริการข้อมูลเครื่องช่วยฟัง

โทร 02-712-1177

02-713-6232

085-357-8777

ทดสอบการได้ยิน

hearing test icon 01

คุณหูตึงหรือไม่ เชิญทดสอบได้ฟรี โดยดาวน์โหลด Eartone App ใน iPhone หรือ Android (Samsung)

Search