โดย นพ.มานัต อุทุมพฤกษ์พร
ในประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคหูหนวก หูตึง ร้อยละ 13.6 อัตราส่วนนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผลกระทบที่เกิดขึ้นนอกจากเกิดกับตัวผู้ป่วยเองแล้ว ยังมีผลต่อครอบครัวและผู้ใกล้ชิด นอกจากนี้ประเทศชาติยังต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาลในการรักษาพยาบาล ฟื้นฟู สร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้บุคคลกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเนื่องจากผู้สูงอายุในประเทศไทยมีอายุยืนยาวขึ้น จึงพบผู้ที่มีประสาทหูเสื่อมตามวัยมากขึ้น ผู้สูงอายุที่ได้ยินลดลง บางท่านจะมีความรู้สึกท้อแท้ในชีวิต แยกตัวจากสังคม ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง กลัวว่าจะพูดกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง จึงพูดน้อยลงโดยเฉพาะกับคนแปลกหน้า
สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคเกิดจาก
ความผิดปรกติแต่กำเนิด
สาเหตุของหูหนวกหูตึงที่ถ่ายทอดจากกรรมพันธุ์อาจพบได้บ้าง และพบร่วมกับการพัฒนาการของทารกในขณะอยู่ในครรภ์ อาจมีการแสดงออกร่วมกับความผิดปรกติของใบหน้าหรือใบหู แต่สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากมารดาได้รับสารหรือเชื้อโรคที่ส่งผลกระทบถึงทารกในครรภ์ เช่น โรคหัดเยอรมัน ยาฆ่าเชื้อบางชนิดที่ทำลายประสาทหูของมารดา อาจมีผลกระทบถึงทารกในท้อง ในปัจจุบันแพทย์สามารถตรวจพันธุกรรมก่อนคิดจะมีบุตรหรือตรวจได้แม้ในเด็กแรกคลอดด้วยเครื่องตรวจประสาทหูชั้นใน (OAE หรือ EBR)
การรับเสียงดังมากกว่าปรกติเป็นระยะเวลานาน
อุบัติการณ์ผู้พิการหูหนวก หูตึง ในเขตกรุงเทพมหานครจะสูงมากขึ้นในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีมลพิษทางเสียง ริมถนนที่มีการจราจรคับคั่ง สถานบันเทิง โรงภาพยนตร์ โรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในกลุ่มอาชีพเสี่ยง เช่น ตำรวจจราจร ผู้ขับขี่รถสามล้อเครื่อง ขับขี่เรือหางยาว ผู้ค้าหาบเร่ แผงลอยริมทางเท้า ผู้ที่ประกอบธุรกิจในสถานบันเทิง นักร้อง นักดนตรี จากสถิติพบเด็กในเมืองที่โทรศัพท์มือนานๆ หรือฟังแพลงดังๆ มีอัตราหูเสื่อมมากกว่าเด็กที่อยู่ตามชนบท
ภัยอันตรายของเสียงที่ดังเกินขนาดที่อาจทำอันตรายต่อประสาทหูจำแนกได้คร่าวๆ เป็น 2 ประเภท คือ
- การที่หูได้รับเสียงที่ดังมากเพียงครั้งเดียว อันตรายนี้อาจจะเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ได้แก่ การยิงปืน ระเบิด การจุดพลุ จุดประทัด หรือฟ้าผ่า เป็นต้น
- การที่หูได้รับเสียงดังเกิน 85 เดซิเบล (ระดับเสียงสนทนาดังประมาณ 60 เดซิเบล และเสียงจากเครื่องเจาะถนนประมาณ 120 เดซิเบล) ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน อันตรายนี้อาจจะเกิดจากการทำงานในโรงงาน เช่น เสียงดังจากเครื่องจักร เสียงเพลง หรือดนตรีที่ดังเกินควร ซาวด์อะเบาท์ คอมพิวเตอร์ และเสียงดังจากยวดยานต่างๆ เป็นต้น ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องได้รับเสียงดังเป็นประจำ ได้แก่ คนงานในโรงงานที่มีเสียงดังเกินควร หรือทหาร ตำรวจ ที่ต้องการฝึกซ้อมยิงปืนควรใช้เครื่องป้องกันเสียงเสมอ
ประสาทหูเสื่อมจากการบาดเจ็บ
- การบาดเจ็บจากแรงกระแทก ซึ่งเป็นผลจากแรงอัดขณะที่ช่องหูปิด ส่วนใหญ่เกิดจากถูกตบตีที่บริเวณหูด้วยฝ่ามือ บางครั้งแก้วหูก็อาจจะทะลุจากการถูกตบอย่างรุนแรงที่หู ซึ่งอาจจะมีเลือดออกจากหูเล็กน้อยร่วมกับอาการปวดหูชั่วคราวและมีอาการหูอื้อตามมา
- แก้วหูทะลุจากการที่ไม้แคะหูถูกดันลึกเข้าไปในช่องหูจนกระแทกแก้วหูฉีก สำหรับเด็กเล็กๆ ก็อาจจะเกิดจากใช้ไม้แยงรูหูด้วยความอยากรู้อยากเห็น หรืออาจเกิดจากผู้ปกครองพยายามแคะขี้หูให้ นอกจากนี้แก้วหูยังอาจทะลุจากการล้างหู การฉีดน้ำเข้าหูจากการเล่นสงกรานต์ การเล่นสกีน้ำ
- การบาดเจ็บจากแรงระเบิด จากลูกระเบิด ประทัด หรือเครื่องยนต์ ฯลฯ เสียงและแรงระเบิดอาจทำให้แก้วหูทะลุ เกิดอันตรายต่อหูชั้นในจนอาจทำให้หูหนวกได้เหมือนกัน
- จากการดำน้ำ ผู้ที่ชอบการดำน้ำควรได้รับการฝึกที่ดี และทดสอบการระบายลมของหูชั้นกลาง และงดการดำน้ำในขณะที่ร่างกายไม่แข็งแรงหรือเป็นหวัด เพราะในขณะที่เป็นหวัด เยื่อบุทางเดินหายใจจะบวมและมีน้ำมูกมาก โดยเฉพาะจมูกและท่อระบายลมของหูชั้นกลาง ทำให้การระบายลมทำได้ยาก มีโอกาสทำให้หูชั้นกลางและแก้วหูฉีกขาดได้
ผลข้างเคียงจากการรับยารักษาโรค โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะแบบฉีด
เสื่อมจากการได้รับสารพิษ ยาปฏิชีวนะ และยารักษาโรค
สารที่เป็นพิษต่อหูชั้นในส่วนใหญ่เกิดจากการใช้ยาฉีดเพื่อรักษาการติดเชื้อ แต่บางครั้งก็อาจเกิดจากการรับประทานยาเพื่อรักษารักษาโรค เช่น ยาควินินรักษาโรคมาลาเรีย หรือการใช้ยาหยอดหู ยาฉีด ที่สามารถทำอันตรายแก่หูชั้นใน ที่พบบ่อยได้แก่ ยาปฏิชีวนะในกลุ่มอมิโนกลัยโคไซด์ ได้แก่ สเตรปโตมัยซิน ไดไฮโดรสเตรปโตมัยซิน คานามัยซิน เจนตามัยซิน โทบรามัยซิน บางครั้งใช้เพียงเล็กน้อยก็อาจเกิดพิษได้ ไม่ขึ้นกับขนาดของยาที่ได้รับ
ยาบางชนิดเริ่มมีผลต่อหูชั้นในที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวหรือเกี่ยวกับการได้ยิน บางชนิดทำให้มีเสียงในหูก่อนที่ประสาทจะเสื่อม แต่ส่วนใหญ่พิษของยาจะทำให้หูหนวกหรือเสื่อมแบบถาวร นอกจากยาในกลุ่มนี้แล้ว ยาแก้ไข้ แก้ปวด จำพวกซาลิไซเลต (Salicylates) หรือยารักษาโรคมาลาเรียจำพวกควินินและคลอโรควิน ก็ทำให้เกิดเสียงในหูและหูหนวก หูตึงได้เช่นกัน ยาหยอดหูก็อาจมีพิษต่อประสาทหูเช่นกัน แต่พบน้อยกว่ายาฉีดมาก
เสื่อมจากการได้รับสารหรือยาหยอดหูผิดประเภท
ยาหยอดหูส่วนใหญ่เป็นยาน้ำแต่ก็มีบ้างที่เป็นยาผง ส่วนประกอบของยาหยอดหูที่เป็นน้ำ อาจจะเป็นยาลดอาการปวดเพียงอย่างเดียวหรือมียาต้านจุลชีพที่มีสเตียรอยด์ร่วมด้วย ส่วนยาผงมักจะเป็นพวกยาต้านจุลชีพเป็นหลัก อันตรายจากการใช้ยาดังกล่าวที่อาจพบได้คือ
- เกิดเชื้อราในช่องหู เกิดจากการใช้ยาหยอดหูที่มียาปฏิชีวนะและสเตียรอยด์เป็นส่วนผสม เมื่อหยอดยาเป็นเวลาหลายวันจะมีการทำลายเชื้อแบคทีเรียธรรมดาที่มีอยู่ในช่องหู ทำให้มีการเจริญของเชื้อราขึ้นมาแทน เกิดอาการคันและปวดในช่องหูร่วมกับการมีน้ำหนวกที่มีลักษณะเป็นเมือกใสๆ
- การใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์หยอดหรือล้างหู อาจทำให้แก้วหูทะลุได้
- การใช้ยาผงหรือด่างทับทิมใส่หู ในรายที่แก้วหูทะลุ ในระยะแรกยาผงจะดูดน้ำหนอง ในหูจับตัวเป็น ก้อนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าหูแห้งดี แต่กลับไปอุดกั้นน้ำหนวกไม่ให้ไหลออกนอกหู หนองอาจไหลย้อนเข้าไปในหูชั้นในและขึ้นสมองได้
- การแพ้ยา หากเกิดอาการคันและอักเสบของผิวหนังบริเวณหู ควรหยุดใช้ยาชนิดนั้นทันที
ประสาทหูเสื่อมตามวัย
ในผู้สูงวัย ประสาทเซลล์ขนในหูชั้นในที่รับเสียงจะเสื่อมตามอายุที่มากขึ้นโดยเริ่มจากประสาทหูที่รับเสียงสูงก่อนแล้วลามไปส่วนอี่น ทำให้ได้ยินเสียงแหลม เช่น เสียงนกร้อง เสียงเด็กเล็ก เสียงผู้หญิง ไม่ชัด ในภาษาอังกฤษจะเป็นเสียง /f/th/s
การป้องกันรักษา
ผู้ที่ทำงานในที่ๆ มีเสียงดังมาก ควรต้องใส่ที่กันเสียง อุดหู หลีกเลี่ยงที่เสียงดังมาก ไม่ฉีดยาโดยไม่จำเป็น
ในกรณีที่ประสาทหูเสื่อมแบบเฉียบพลันควรต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ อาจมีโอกาสรักษาให้คืนสู่ปรกติได้ในช่วงเดือนแรกๆ แต่หากไม่ฟื้นคืนปรกติภายในสามเดือนแรก โอกาสน้อยมากที่จะหายเป็นปรกติ ในผู้ที่มีประสาทหูเสื่อมเกินหกเดือนควรพิจารณาใส่เครื่องช่วยฟัง