โดย พญ. นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร
โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
หลายท่านคงเคยได้ยินเกี่ยวกับโรคนี้ คนส่วนมากเมื่อมีอาการเวียนศีรษะก็มักจะคิดว่าอาจเป็นอาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากันได้ การที่จะวินิจฉัยโรคนี้ได้นั้น จะต้องวินิจฉัยโดยผู้เชี่ยวชาญด้านหู เนื่องด้วยถ้าจะมั่นใจได้ว่าเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน นอกจากการวินิจฉัยด้วยอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนร่วมกับมีอาการหูอื้อ แน่นหู หรือเสียงวิ้งๆ ในหู จะต้องได้รับการตรวจระดับการได้ยินอย่างละเอียดในห้องเก็บเสียง เพื่อยืนยันว่ามีการสูญเสียการได้ยินร่วมด้วย
การสูญเสียการได้ยินที่ความถี่ต่ำ (ต่ำกว่า 2000Hz) เป็นหนึ่งในเกณฑ์การวินิจฉัยสำหรับโรคน้ำในหูไม่เท่ากันร่วมกับอาการบ้านหมุน โดยการสูญเสียการได้ยินอาจจะเริ่มจากหูด้านหนึ่งก่อนหรือเริ่มในหูทั้งสองข้างพร้อมกันก็ได้ แต่พบได้น้อยกว่ามาก
เมื่อทำการวินิจฉัยได้แล้ว โรคนี้มีการรักษาที่จำเพาะหลายอย่าง เพื่อให้อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนหายไป
ถ้าท่านหรือคนที่ท่านรักสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน แนะนำให้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด และนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องต่อไป
โรคหินปูนในหูชั้นในหลุด
โรคนี้จะทำให้มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนอย่างรุนแรงมาก อาการจะเป็นมากเมื่อเปลี่ยนท่าทาง โดยเฉพาะเมื่อจะลุกจากเตียงหรือจะล้มตัวลงนอน หลายท่านทนกับอาการเหล่านี้มาเป็นเวลานาน โดยไม่ทราบว่าเป็นโรคที่มีการรักษาให้หายได้โดยไม่ยาก
การตรวจวินิจฉัยภาวะนี้ สามารถตรวจได้ด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู โดยการตรวจจะมีการทดสอบอย่างละเอียดว่าหินปูนหลุดที่หูด้านไหน ที่ตำแหน่งใด
เมื่อตรวจพบแล้ว โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้โดยแพทย์เฉพาะทางด้านหู ด้วยการทำกายภาพบำบัดแบบพิเศษเพื่อเคลื่อนตะกอนหินปูนกลับเข้าที่เดิมร่วมกับการรับประทานยา
หูมีเสียง
บางคนอาจได้ยินเสียงดังในหู เช่น ขี้หูที่ใกล้หรือติดบนแก้วหู เมื่อเวลาร่างกายเคลื่อนไหวเปลี่ยนท่าอาจกระทบกันจนเกิดเป็นเสียงได้ บ่อยครั้งเสียงที่ได้ยินเกิดจากเส้นผมที่ติดแก้วหู เมื่อหันหัวไปมาเส้นผมถูกับแก้วหู อาจเกิดเสียงแขรกๆ บางคนอาจได้ยินเสียงที่เกิดจากกล้ามเนื้อทำงานเวลากลืนหรือเสียงคล้ายเสียงเต้นของหัวใจ
หูแว่ว
คือการที่ได้ยินเสียงที่เป็นคำพูดโดยที่ไม่มีเสียงนั้นจริงๆ คนที่อยู่ข้างๆ ไม่ได้ยิน ถ้าได้ยินอยู่ตลอดเวลาแสดงว่าอาจเป็นโรคจิตประสาท ต้องปรึกษาแพทย์
หูไวผิดปรกติ
คืออาการที่ไม่สามารถทนต่อเสียงที่ปรกติเคยทนได้ แต่เมื่อมีอาการหูไวผิดปรกติจะทนไม่ได้โดยที่เสียงนั้นดังเท่าเดิม จะเกิดอาการหงุดหงิด ปวดหู ปวดหัว เช่น เสียงเปิด-ปิดประตู เสียงชักโครก เสียงกริ่งโทรศัพท์ เสียงเด็กร้อง เป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีเสียงในหู บางคนเป็นมากจนเกิดอาการกลัวต่อเสียงใดเสียงหนึ่งหรือกลัวเสียงทุกอย่าง (Phonophobia) บางคนกลัวมากจนต้องใส่ที่อุดหูอยู่ตลอดเวลาหรือแยกตัวจากสังคม